วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ

ดังที่ทราบกันแล้วว่า การหายใจเกิดขึ้นได้เพราะความดันที่แตกต่างกันระหว่างปอดกับบรรยากาศภายนอก สิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างของความดันก็คือ การขยายขนาดของทรวงอกและการลดขนาดของทรวงอก การขยายขนาดทรวงอก จะทำให้เกิดช่องว่าง ซึ่งทำให้ความดันในปอดลดลง อากาศจากภายนอกจึงไหลเข้าสู่ปอดได้ ส่วนการลดขนาดก็เป็นการเพิ่มความดัน ทำให้เกิดการหายใจออก อวัยวะที่ทำหน้าที่เพิ่มและลดขนาดของทรวงอก ได้แก่ กล้ามเนื้อ ต่อไปนี้

กล้ามเนื้อที่ช่วยเพิ่มขนาดทรวงอกเพื่อหายใจเข้า

  1. กระบังลม (diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุดของการหายใจเข้าในขณะพักการหดตัวจะทำให้เพิ่มขนาดของทรวงอกตามแนวตั้ง
  2. กล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ซึ่งเรียกว่า เอคซ์เทอนัลอินเตอร์คอสตัน (external intercostal) กล้ามเนื้อนี้เกาะจากขอบล่างของซี่โคลงซี่บนและวิ่งเป็นเส้นทะแยงมุมมาทางด้านหน้ามาเกาะที่ขอบบนของซี่โครงซี่ล่าง เวลาหดตัวจะช่วยยกซี่โครงและกระดูกหน้าอก(sternum) ขึ้นทำให้ทรวงอกขยายตัวโดยมากจะเกิดเมื่อร่างกายจำเป็นต้องหายใจแรง ๆเช่น ในขณะออกกำลังกาย
  3. กล้ามเนื้อบริเวณคอ คือ กล้ามเนื้อสกาลีนัส (scalenus) และสเตอโนไคลโดมาสตอยด์ (sternocleidomastoid) ทั้ง 2 มัดเวลาหดตัวจะช่วยยกซี่โครง 2 ซี่บน และกระดูกหน้าอกขึ้นทำให้ทรวงอกเกิดช่องว่าง โดยมากจะเกิดขึ้นขณะร่างกายออกกำลังกาย

กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดหลังและศีรษะให้ตั้งตรงเพื่อให้หายใจเข้าได้เต็มที่ในขณะออกกำลังกายอย่างหนัก คือ กล้ามเนื้อหลังรูปสามเหลี่ยมใหญ่ ซึ่งมีชื่อว่า ทราพีเซียซ (trapezius)

กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจออก

  1. กระบังลม เมื่อคลายตัวจะดันขึ้นสู่ด้านบนทำให้ขนาดของทรวงอกแคบลง แรงดันของอากาศในปอดเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดการหายใจออก
  2. กล้ามเนื้อท้อง (abdominals) จะหดตัวทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันนี้จะไปดันกระบังลมซึ่งคลายตัวให้กลับขึ้นไปในทรวงอกได้มากขึ้น

ที่มา - http://www.ipecp.ac.th/cgi-bin/Physio/sarira/rabb2.4.html

ไม่มีความคิดเห็น: